วิธีป้องกันภัยจากมิจฉาชีพออนไลน์

0

เรารวบรวมวิธีป้องกันไม่ให้หลงฮุบเหยื่อที่เหล่าโจรนำมาล่อ มาหลอกจนต้องพลาดท่าให้กับมิจฉาชีพ เราไปดูวิธีรับมือโจรเหล่านี้กันเลยดีกว่า

วิธีป้องกันภัยจากมิจฉาชีพออนไลน์

เมื่อเหล่าแก๊งมิจฉาชีพออกอาละวาด ระบาดหนักไม่แพ้โควิด-19 สารพัดกลวิธีและหลากหลายมุกที่หยิบยกนำมาใช้ โทรทั้ง เช้า สาย บ่าย เย็น โทรถี่ยิ่งกว่าสามี ภรรยา เสียอีก พอคนเริ่มทันมุกเก่า ก็มีมุกใหม่มา มีทั้งที่ตกเหยื่อคนหลงกลได้ และคนที่เกือบหลงเป็นเหยื่อก็ไม่น้อย เพราะก็ไม่รู้ว่าอันไหนจริงอันไหนหลอก ทำให้โลกนี้ยิ่งอยู่ยากเข้าไปทุกที 

เรารวบรวมวิธีป้องกันไม่ให้หลงฮุบเหยื่อที่เหล่าโจรนำมาล่อ มาหลอกจนต้องพลาดท่าให้กับมิจฉาชีพ ผู้หากินบนความทุกข์ของคนอื่น เราไปดูวิธีรับมือโจรเหล่านี้กันเลยดีกว่า แต่ก่อนอื่นเราลองมาดูมุกเก่าและมุกใหม่ที่โจรมักนำมาใช้หลอกเหยื่อกันดีกว่า จะได้รู้ทัน ไม่พลาดตั้งแต่ก้าวแรก

มุกเก่าและมุกใหม่ที่มิจฉาชีพมักนำมาใช้

  • หลอกว่ามีพัสดุตกค้าง มาส่งไม่ได้ บลา ๆ ๆ 
  • หลอกให้เซ็นรับพัสดุ 
  • หลอกว่าเป็นผู้โชคดีถูกรางวัล 
  • ปลอมตัวเป็นตำรวจ และหลอกว่าเหยื่อมีคดีพัวพันที่ต้องถูกดำเนินคดี 
  • โอนเงินผิดบัญชีและให้โอนคืน 
  • หลอกถามข้อมูลส่วนตัว 
  • โทรชวนสมัครงาน 
  • ทำทีว่าโทรมาจากไปรษณีฯ หรือ สถานีตำรวจ ฯลฯ 
  • หลอกขายของปลอม ขายของไม่ตรงปก หรือไม่ส่งของให้หลังจากจ่ายเงิน 
  • หลอกให้เปิดบัญชีปลอม 

และอีกหลากหลายสารพัดมุกที่มีทั้งแพทเทิร์นเดียวกัน ลอกข้อสอบต่อ ๆ กันมา หรือวิธีฉีกแนวไปเลยแล้วแต่ความคิดสร้างสรร(ในทางที่ผิด) ของโจรแต่ละคน ดังนั้นเมื่อได้รับเอกสาร มีข้อความ หรือมีสายโทรเข้า อันดับแรกที่ควรจะมีคือ สติ ตั้งสติและพิจารณา อย่าร้อนรนหรือวิตกกังวล ต่อให้ปลายสายอ้างหรือขู่ว่าเรามีความผิดในข้อหาใด ๆ ก็ตาม ให้ตั้งสติ แล้วทำขั้นตอนต่อไปนี้ 

วิธีการรับมิจฉาชีพในโลกออนไลน์

1. เช็กข้อมูลเบื้องต้น 

เช็คหมายเลขโทรศัพท์ เลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร ชื่อ-สกุลของมิจฉาชีพได้ที่เว็บไซต์ต่าง ๆ ที่มีการบันทึกพฤติกรรมของโจรเหล่านี้ ได้แก่ 

  • https://www.blacklistseller.com/
  • https://www.whoscheat.com/
  • www.ฉลาดโอน.com 


2. ใช้แอปพลิเคชัน Who’s call 

โหลดแอปพลิเคชัน Who’s call มาใช้ เพราะแอปนี้จะเป็นปราการด่านแรกในการเช็กเบอร์มือถือแปลก ๆ ที่โทรเข้ามา โดยจะแจ้งเตือนหากเป็นหมายเลขที่เคยถูกบันทึกไว้ว่าเป็นเบอร์มิจฉาชีพ หลอกลวง ขายประกัน ขายบัตรเครดิต หรือเป็นเบอร์ที่ไม่น่าไว้ใจใด ๆ ก็ตาม แอปจะทำการแจ้งเตือนด้วยล่วหน้า ด้วยการขึ้นว่าเป็นหมายเลขน่าสงสัย ทำให้เราไหวตัวทัน ไม่เผลอกดรับสาย 


3. ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวในโลกออนไลน์ หรือเปิดเผยข้อมูลเท่าที่จำเป็น

หากมีแอปใดที่ร้องขอให้กรอกข้อมูลส่วนตัวที่มากเกินความจำเป็น เช่น ขอเลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร เลขบัตรเครดิต/เดบิต วันเดือนปีเกิด รหัสผ่านต่าง ๆ OTP ใด ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น อีเมล SMS , Line เป็นต้น อย่ารีบกรอกข้อมูลทั้งหมด ให้พิจารณาและอ่านข้อมูลให้ถี่ถ้วน หากไม่แน่ใจ ให้เข้าไปเช็กข้อมูลของเว็บไซต์ของธุรกรรมนั้น ๆ โดยตรง เช่น หากเป็นแอปที่อ้างว่ามาจากธนาคารใด ก็เข้าไปเช็กหรือโทรสอบถาม Call center ของธนาคารนั้นโดยตรง  


4. หลีกเลี่ยงการใช้ Wi-Fi สาธารณะ 

กรณีที่ต้องการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบออนไลน์ ไม่ควรใช้ Wi-Fi สาธารณะ เพราะจะยิ่งเพิ่มช่องโหว่ให้มิจฉาชีพเจาะเอาข้อมูลสำคัญ เช่น username , password เพื่อเข้าไปขโมยเงินในบัญชีของเราได้ 


5. จำกัดวงเงินเบิกถอนต่อวัน 

เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญเงินจำนวนมาก โดยสามารถเปลี่ยนวงเงินที่ต้องการเบิกถอน / วัน ได้เอง ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของธนาคาร หรือแหล่งธุรการเงินนั้น ๆ นั้นโดยตรง อย่าได้ทำผ่านบนแอปที่ไม่แน่ใจ หรือช่องทางอื่นเด็ดขาด 


6. ควรใช้รหัสผ่านในบัญชีต่าง ๆ ให้รัดกุม 

พยายามตั้ง password รัดกุม โดยหลีกเลี่ยงการนำข้อมูลที่บ่งชี้ความเป็นตัวตนมาใช้เป็นรหัสผ่าน เช่น วันเดือนปีเกิด ชื่อ นามสกุล เป็นต้น เพราะมันง่ายต่อการคาดเดา และทำให้ถูกโจรกรรมได้ง่ายขึ้นเช่นกัน 


7. ติดตามข้อมูลข่าวสารอยู่เสมอ 

เพื่อจะได้รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมใหม่ ๆ ของมิจฉาชีพ ที่มักจะหามุกใหม่ ๆ ในการนำมาใช้ เพื่อหลอกล่อเหยื่อให้หลงกล 


8. หาทางแก้ไขอย่างรวดเร็วเมื่อพลาดตกเป็นเหยื่อไปแล้ว

  • รีบเปลี่ยนรหัสที่ใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ทันที แล้วรีบติดต่อธนาคารหรือแหล่งการเงินที่มีการเชื่อมต่อทางธุรกรรม เพื่ออายัดบัญชี 
  • แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อลงบันทึกประจำวันด้วยตนเองที่สถานีตำรวจทุกแห่ง หรือ Call center 1441 หรือที่เว็บไซต์ https//www.thaipoliceonline.com/ 
  • แจ้งเบาะแสหากพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ https://tcsd.go.th 


9. แชร์ความรู้ต่อ 

แชร์ข้อมูลที่ได้รับรู้มาให้กับครอบครัว เพื่อน ๆ คนใกล้ชิด หรือคนรู้จัก เพื่อเตือนภัยและให้รู้เท่าทันกลโกง จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ 

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เป็นโลกแห่งไซเบอร์และการสื่อสารทางออนไลน์ เพิ่มความสะดวกสบายให้กับชีวิตของคนยุคใหม่ แต่ก็เป็นการเพิ่มความสะดวกและหนทางให้กับการฉ้อโกงของเหล่ามิจฉาชีพเช่นกัน หากไม่ต้องการตกเป็นเหยื่อหรือหลงพลาดท่า ก็ต้องหาวิธีป้องกันและรับมือให้ได้มากที่สุด อัตตาหิ อัตตโน นาโถ คนเป็นที่พึ่งแห่งตน ยังใช้ได้ทุกยุคสมัย แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

You may have missed