ระวัง! ท่องป่า เที่ยวถ้ำ อาจมีกลุ่มโรค Cave disease แฝงมาไม่รู้ตัว
โรคติดเชื้อจากในถ้ำคืออะไร และประเภทโรคใดบ้างที่เข้าข่ายเป็นเชื้อติดต่อจากในถ้ำ | โรคติดต่อที่สามารถติดเชื้อได้มาจากภายในถ้ำมีอะไรบ้าง
จากเหตุการณ์นักท่องเที่ยวและนักเดินป่าติดเชื้อลงปอด อันเนื่องมาจากได้สูดเอาสปอร์เชื้อราฮิสโตพลาสมา แคปซูลาตุม หรือ Histoplasma casulatum ก่อโรค ฮิสโตพลาสโมซิส ซึ่งเป็นโรคทางเดินหายใจ หลังจากได้เดินทางไปท่องเที่ยวแหล่งธรรมชาติในป่าลึกของเขตอุทยานน้ำตกโยง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช และได้มีการเข้าไปสำรวจในโพรงไม้ใหญ่ที่มีค้างคาวอาศัยอยู่ภายในเป็นจำนวนมาก และใช้เวลาอยู่ในโพรงนั้นประมาณ 3-5 นาที จนเป็นที่มาของการติดเชื้อ ซึ่งเชื้อราดังกล่าวเจริญเติบโตได้ดีในสถานที่มีอากาศอับชื้น เช่น สถานที่รกร้าง อาคารเก่า ตึกหรือโรงงานร้าง ในดิน ซากต้นไม้ โขดหิน ในโพรงไม้ใหญ่ ถ้ำ รวมไปถึงในมูลสัตว์ปีกบางชนิด เช่น ค้างคาว หรือ นก
โรคฮิสโตพลาสโมซิส หรือ Histoplasmosis เคยถูกเรียกว่าเป็นโรคติดเชื้อจากในถ้ำ (Cave disease)และเคยถูกกล่าวถึงจากเหตุการณ์ ทีมหมูป่าอะคาเดมี ซึ่งเป็นนักฟุตบอลเยาชน ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนเขาถ้ำนางนอน ที่ ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ด้วยกันทั้งหมด 13 ชีวิต และเนื่องจากการใช้ชีวิตอยู่ในถ้ำเป็นระยะเวลานาน จึงอาจทำให้มีการติดเชื้อต่าง ๆ จากภายในถ้ำออกมาสู่โลกภายนอกได้
โรคติดเชื้อจากในถ้ำคืออะไร และประเภทโรคใดบ้างที่เข้าข่ายเป็นเชื้อติดต่อจากในถ้ำ
เนื่องจาก “ถ้ำ” เป็นสถานที่มีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ดี เพราะแสงแดดส่องไม่ถึง ทำให้ภายในถ้ำมีอุณหภูมิคงที่ อับชื้น และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ประจำถิ่น (cave fauna) อย่าง ค้างคาว นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และสัตว์อื่น ๆ ตามแต่ละท้องที่นั้น ๆ โดยโรคติดเชื้อจากในถ้ำมักจะเกิดจากเชื้อโรคที่เชื่อมโยงกับสัตว์ประจำถิ่นเหล่านี้เป็นส่วนใหญ่ โดยอาจมีการสัมผัสตัวสัตว์โดยตรง สัมผัสน้ำลายหรือสารคัดหลั่งจากการโดนกัด การสูดเอาสปอร์เชื้อราบางชนิดที่อยู่ในมูลสัตว์ เป็นต้น
โรคติดต่อที่โรคติดต่อที่สามารถติดเชื้อได้มาจากภายในถ้ำมีอะไรบ้าง ติดเชื้อได้มาจากภายในถ้ำมีอะไรบ้าง
1. โรค Histoplasmosis
โรค Histoplasmosis หรือ โรคฮิสโตพลาสโมซิส คือ โรคทางเดินหายใจ ที่เกิดจากเชื้อรา Histoplasma casulatum เป็นอีกหนึ่งในโรคติดเชื้อจากในถ้ำที่พบได้บ่อยที่สุด เนื่องจากสภาพแวดล้อมภายในถ้ำที่มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและแพร่กระจายของเชื้อราชนิดนี้ และสามารถติดเชื้อได้ง่ายผ่านทางดินที่มีการปนเปื้อนมูลสัตว์ เช่น ค้างคาว นก ไก่ เป็ด ฯลฯ ในรูปของสปอร์ (conidia) ลอยฟุ้งในอากาศ แล้วมีการสูดหายใจเข้าสู่ปอด โดยระยะฟักตัวของโรคอยู่ที่ประมาณ 1-3 สัปดาห์
อาการโรคฮิสโตพลาสโมซิส : โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ติดเชื้อราฮิตโตพลาสมาฯ แทบจะไม่มีอาการ หรืออาจมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น
- ติดเชื้อที่ผิวหนัง
- มีไข้
- ปวดศีรษะ
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ไอ มีเสมหะหรือไม่มีเสมหะ
- เสียงแหบ
- หนาวสั่น
- หายใจหอบ
กรณีที่ได้รับเชื้อปริมาณมากหรือเชื้อแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ หรือเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้มีอาการรุนแรงจนอาจทำให้เกิดอันตรายจนเสียชีวิตได้ โดยอาการต่าง ๆ ได้แก่
- ปอดอักเสบรุนแรง
- หายใจติดขัดเฉียบพลัน
- มีไข้เรื้อรัง
- ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลืองโต
- มีแผลในลำคอ กระเพาะอาหาร หรือในลำไส้
- ต่อมหมวกไตเสื่อมประสิทธิภาพ
- มีภาวะเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว หรือเกล็ดเลือดต่ำ
- น้ำหนักลดหรือเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ
2. โรคฉี่หนู (Leptospirosis)
โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Spirchete ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปเกลียว อยู่ในตระกูล Leptospira และยังเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonotic disease) โดยมี “หนู” และ “ค้างคาว” เป็นพาหะนำโรค ซึ่งเจ้าเชื้อ Leptospira ที่ว่านี้ จะมีการถูกปล่อยออกมาพร้อมกับปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ ปนเปื้อนในน้ำขังและดินที่เปียกชื้นได้เป็นระยะเวลานานกว่าหลายสัปดาห์ หรืออาจหลายเดือนเลยทีเดียว โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนัง เช่น เยื่อบุดวงตา ปาก จมูก รอยแผล รอยขีดข่วน และยังสามารถไชเข้าสู่ทางผิวหนังที่แช่น้ำอยู่เป็นเวลานาน ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อเกิดจากการแช่น้ำท่วมขัง ว่ายน้ำ เดินเหยียบโคลน หรือจากการสัมผัสปัสสาวะ สารคัดหลั่ง หรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่ติดเชื้อโดยตรง และระยะเวลาการฟักตัวของโรคฉี่หนูประมาณ 5-14 วัน
อาการของโรคฉี่หนู : ผู้ติดเชื้อจะมีอาการแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อที่ได้รับ ตั้งแต่ไม่มีอาการ (asymptomatic) ไปจนถึงมีอาการรุนแรงถึงแก่ชีวิต (life threatening) โดยอาการโรคฉี่หนูที่พบบ่อย ได้แก่
- มีไข้สูง
- ปวดศีรษะ
- หนาวสั่น
- ไอมีเสมหะ
- ตาแดง
- ปวดกล้ามเนื้อรุนแรง โดยเฉพาะ กล้ามเนื้อโคนขา น่อง และ หลัง
สำหรับผู้ที่มีอาการโรคฉี่หนูที่ติดเชื้ออย่างรุนแรง อาจมีอาการดังนี้
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- ไอมีเลือดปน
- ตัวเหลือง ตาเหลือง
- ตับและไตวาย
- มีจุดเลือดออกตามเยื่อบุและผิวหนัง
3. โรคสมองอักเสลนิปาห์ (Nipah)
โรคสมองอักเสบนิปาห์ เกิดจากเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah virus) ซึ่งอยู่ในตระกูล Henipavirus และเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonotic disease) เช่นเดียวกับโรคฉี่หนู โดยตัวการนำโรคคือ ค้างคาวผลไม้ (fruit bat) ที่มีกระจายอยู่ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งการรับเชื้อมักมาจากการรับประทานผลไม้ที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งของค้างคาว เช่น ปัสสาวะหรือน้ำลาย หรือจากการสัมผัสสุกรที่ติดเชื้อ โดยระยะฟักตัวของโรคนี้อยู่ที่ประมาณ 4-14 วัน
อาการของโรคสมองอักเสบนิปาห์ : ผู้ติดเชื้อโรคสมองอักเสบนิปาห์มีอาการได้หลากหลายด้วยกัน ตั้งแต่ไม่มีอาการ ไปจนถึงอาการรุนแรงในระบบประสาท หรือระบบทางเดินหายใจผิดปกติ จนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้
- อาการโรคสมองอักเสบนิปาห์ในระยะแรก : มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีอาการมึนงง ควบคุมสติไม่ค่อยได้
- อาการรุนแรงของโรคสมองอักเสบนิปาห์ : สมองอักเสบ ปอดอักเสบ หายใจลำบากเฉียบพลัน (ARDS) มีการชัก และอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด
4. โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)
โรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies virus) เป็นไวรัสในตระกูล Lyssavirus โดยพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้า ได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าธรรมชาติหรือสัตว์เลี้ยง ตั้งแต่ สุนัข แมว กระต่าย หนู ลิง แพะ วัว ควาย หรือ ค้างคาว ที่อาศัยอยู่ในแหล่งธรรมชาติ ส่วนใหญ่การติดเชื้อจากค้างคาวมักเกิดจากโดนกัดโดยไม่รู้ตัว จึงไม่ได้สนใจที่จะทำความสะอาดบาดแผลหรือรีบทำการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ทำให้มีการติดเชื้อหลังจากมีการฟักตัวของโรคในช่วง 1-3 เดือน หรืออาจเพียงแค่ในระยะเวลาสั้น ๆ 7 วัน หรืออาจใช้เวลานานถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อที่ได้รับ
อาการของโรคพิษสุนัขบ้า : ในระยะเริ่มแรกจะมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ชาหรือปวดตรงบริเวณรอยแผลที่ถูกกัด มีอาการคันอย่างรุนแรงที่แผลและลำตัว กลัวแสง และเมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่สมองและระบบประสาท ผู้ป่วยจะเกิดอาการคลุ้มคลั่ง กระวนกระวาย ประสาทหลอน หายใจหอบ ชัก หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด
นอกเหนือจากโรคเหล่านี้ ก็ยังมีโรคติดเชื้ออีกหลายชนิดที่สามารถติดต่อมาจากภายในถ้ำ เช่น โรคบาดทะยัก โรคที่เกิดจากน้ำลายเห็บ เป็นต้น
การรักษาผู้ป่วยภาวะปอดอักเสบที่ไม่รุนแรง อาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านเชื้อราในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ แต่อาจพิจารณาในการให้ยา Itraconazole และคอยสังเกตอาการ แต่ถ้าหากมีการติดเชื้อชนิดแพร่กระจาย อาจต้องพิจารณาให้ยาต้านเชื้อราทางหลอดเลือดดำ เช่น Amphotericin B หรือ Lipid formulation
สำหรับผู้ที่เพิ่งกลับมาจากการท่องเที่ยวแหล่งธรรมชาติ และมีปัจจัยต่อการเสี่ยงได้รับเชื้อตามที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด ควรทำการกักตัวอยู่ในพื้นที่เขตกักกันโรคติดต่อ เพื่อทำการตรวจสอบและคัดกรองโรคก่อนจะได้รับการอนุญาตจากแพทย์ให้กลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ รวมถึงผู้ป่วยที่ติดเชื้อกลุ่มโรคเหล่านี้และกำลังอยู่ในระหว่างรักษาตัวเช่นกัน งดการติดต่อหรือใกล้ชิดผู้อื่นจนกว่าจะหายจากโรคและได้รับอนุญาตจากแพทย์ เพื่อป้องกันการกระจายเชื้อโรคจนเกิดการระบาดและกลายเป็นปัญหาใหญ่ตามมา