วิธีเอาชีวิตรอดจากตึกถล่ม แผ่นดินไหว ด้วยทฤษฎี “สามเหลี่ยมชีวิต”

0
Triangle-of-life

https://quakekit.ca/the-triangle-of-life/

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีเหตุการณ์ภัยพิบัติสารพัดรูปแบบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นเรื่อย ๆ  ตราบใดที่มนุษย์ยังคงรบกวนวัฐจักรโลกและทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างไม่หยุดพัก 

เภทภัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งจากธรรมชาติ และสิ่งก่อสร้างที่มาจากน้ำมือมนุษย์ เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด สึนามิ แผ่นดินแยก และบ่อยครั้งที่มักจะเกิดตึกถล่มตามมา โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรง หรือแม้แต่ตัวอาคารที่สร้างไร้มาตรฐาน ไม่มีความแข็งแรงมากพอ ทำให้อาคารถล่มจนมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจำนวนมาก 

ได้มีโอกาสอ่านวิธีเอาตัวรอดจากตึกถล่มจากบทความ “สามเหลี่ยมชีวติ” ของดัก คอบบ์ หัวหน้าหน่วยกู้ภัยและผู้จัดการด้านพิบัติภัยของทีมกู้ภัยนานาชาติแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นทีมกู้ภัยที่มีประสบการณ์มากที่สุดในโลก และ ดัก คอบบ์ เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการอพยพผู้คนเมื่อเกิดภัยพิบัติขององค์กรสหประชาชาติมา 2 ปี ทำงานกับหน่วยกู้ภัยจาก 60 ประเทศ เป็นหนึ่งในผู้กู้ภัยที่ทำงานกับภัยพิบัติใหญ่ ๆ ในโลกมาแล้วมากมายตั้งแต่ปี 1985 และได้ก่อตั้งหน่วยกู้ภัยในหลายประเทศอีกด้วย 

บทความของเขาได้สรุปวิธีทำอย่างไรให้รอดชีวิตเมื่ออยู่ในอาคารที่กำลังถล่ม โดยผ่านภาพยนต์ที่เขาได้ทุ่มทุนสร้างขึ้นเมื่อปี 1996 เพื่อรองรับถึงวิธีการเอาตัวรอดแบบที่เขาคิดนั้นสามารถช่วยชีวิตผู้ประสบภัยได้จริง และได้มีการฉายภาพยนต์ดังกล่าวทางโทรทัศน์ในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ละตินอเมริกา และตุรกี 

https://quakekit.ca/the-triangle-of-life/

ในภาพยนต์ของดัก คอบบ์ ใช้หุ่นมนุษย์ 20 ตัวอยู่ภายในบ้านและโรงเรียนจำลอง และทำการถล่มอาคารเหล่านั้นเสมือนเกิดแผ่นดินไหว หลังจากนั้นพวกเขาได้ทำการคลานผ่านซากปรักหักพังเข้าไปในตึกดังกล่าว เพื่อถ่ายภาพและเก็บข้อมูล ผลที่ได้จากภาพยนต์เรื่องนี้ แสดงให้เห็นถึงอัตราการรอดชีวิตของกลุ่มที่มุดและหาที่กำบังนั้นเป็นศูนย์ ในขณะที่กลุ่มหุ่นยนต์ใช้วิธีสามเหลี่ยมชีวิตของคอบบ์นั้น มีโอกาสรอดแทบเรียกได้ว่า 100% แม้จะมีบาดเจ็บจากเศษสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ บ้างก็ตาม 

ส่วนใหญ่เรามักจะถูกแนะนำให้มุดและหาที่กำบังเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว หรือเมื่อเกิดเหตุ ตึก อาคารถล่ม เช่น หลบใต้โต๊ะ ใต้เตียง โดยมีเหตุผลว่าเพื่อให้วัสดุเหล่านั้นรองรับสิ่งต่าง ๆ ที่ร่วงหล่นลงมาแทนเรา ไม่ว่าจะเป็น สิ่งของ เครื่องเรือน หรือชิ้นส่วนโครงสร้างของอาคารวัสดุหนัก ๆ ที่อาจพังถล่มลงมา แต่จากที่คอบบ์ได้คลานเข้าไปในโรงเรียนที่มีการพังถล่มลงแห่งหนึ่งในเมืองเม็กซิโกซิตี้จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปี 1985 กลับพบว่า เด็กทุกคนที่หลบอยู่ใต้โต๊ะเรียนถูกอัดแบนจนกระดูกแหลก ไม่มีใครรอดชีวิต โดยคอบบ์เอ่ยว่า พวกเขาอาจมีโอกาสรอดหากลงไปนอนราบกับพื้นข้าง ๆ โต๊ะเรียนแทน 

ทำไม ดัก คอบบ์ จึงมั่นใจว่า การลงไปนอนราบกับพื้นข้าง ๆ โต๊ะเรียน มีโอกาสรอด ให้พิจารณาตามรูปด้านล่างดูค่ะ 

จากรูปจะเห็นได้ว่าเมื่อมีสิ่งของหล่นลงมา จะเกิดช่องว่างที่อาจสร้างโอกาสรอดให้เราได้ แต่ไม่ได้แนะนำว่าวิธีนี้จะได้ผล 100% แต่จะช่วยลดความรุนแรงจากการถูกสิ่งของอื่น ๆ หล่นทับ หรือการถูกบีบอัด ซึ่งจะต้องขึ้นอยู่กับสถานที่และสิ่งรอบตัวด้วยเช่นกัน ถ้าอย่างนั้นต้องทำอย่างไรจึงจะมีโอกาสรอดแบบ สามเหลี่ยมชีวิต ? คอบบ์ได้สรุปวิธีทำอย่างไรให้ปลอดภัยจากแผ่นดินไหว (Ten Tips For Earthquake Safety) โดยมี 10 ข้อ ดังนี้ 

1. อย่าใช้บันไดเด็ดขาด เพราะขณะเกิดเหตุ บันไดมีช่วงการเคลื่อนตัว สามารถแกว่งและกระแทกได้อย่างต่อเนื่อง จนทำให้บันไดแยกตัวจากอาคาร และอาจทำให้คนที่อยู่บนบันได หรือกำลังใช้บันไดถูกโครงสร้างบันไดที่กำลังจะถล่มตัดร่างหั่นออกเป็นชิ้น ๆ ได้ และแม้ว่าอาคารจะไม่มีทีท่าว่าจะถล่มใด ๆ ก็ควรอยู่ให้ห่างบันไดไว้ เพราะมันอาจถล่มในช่วงเวลาใดก็ได้ หากอยู่ชั้น 1-2 ให้รีบออกจากอาคารให้เร็วที่สุด แต่ถ้าอยู่ชั้นบนสูง ๆ อย่าพยายามลงไปชั้นล่าง ๆ หรือชั้นที่ต่ำกว่า เพราะหากตัวอาคารถล่ม จะทำให้ถูกสิ่งของ วัสดุอาคารหล่นทับได้ 

2. อย่ายืนอยู่ข้างกำแพง และควรอยู่ให้ห่างจากกำแพงให้มากที่สุด ถ้าเป็นไปได้เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวให้ออกจากอาคารให้เร็วที่สุด หรือหาทางออกห่างจากกำแพงด้านในอาคาร เพราะถ้ายิ่งอยู่ภายในอาคารลึกมากเท่าไร โอกาสทางหนีจะยิ่งถูกปิดกั้น 

3. อย่ายืนตรงช่องประตู หลายคนที่เสียชีวิตจากการที่ยืนอยู่ตรงช่องประตูและวงกบ เนื่องจากการยืนตรงช่องประตู หรือบริเวณวงกบประตู จะทำให้โดนเพดานด้านบนตกลงมาทับได้ จากที่ประตูล้มลงไปข้างหน้าหรือด้านหลัง แต่ถ้าวงกบล้มจากด้านข้าง มันจะตัดร่างของคนที่ยืนอยู่ออกเป็นสองท่อนทันที 

4. อย่ามุดเข้าไปอยู่ใต้โต๊ะ หรือใต้สิ่งของ โดยคอบบ์กล่าวว่า เมื่ออาคารถล่ม หลายคนที่มุดและหาที่กำบัง ส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสรอด เนื่องจากถูกอัดทับจนตาย 

5. นอนขดตัวข้าง ๆ เก้าอี้ โซฟา หรือเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ ๆ เตี้ย แต่หนัก โดยการนอนขดตัวเป็นลักษณะการนอนของทารกในครรภ์มารดา และธรรมชาติของสัตว์บางชนิด เช่น หมา แมว โดยคอบบ์กล่าว่า มันเป็นสัญชาติญาณในการรักษาชีวิตให้ปลอดภัย โดยพยายามนอนขดตัวข้าง ๆ เฟอร์นิเจอร์หนัก ๆ ที่พอจะมีช่องว่างสามเหลี่ยมข้าง ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสรอด  

6. หมอบข้างโซฟา หรือเก้าอี้ตัว โต๊ะตัวใหญ่ ๆ หนัก ๆ เมื่อหาทางหนีออกจากอาคารไม่ทัน ให้นอนราบ หมอบ หรือนอนขดตัวในท่าทารกในครรภ์ ข้าง ๆ โซฟาหรือเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ แต่ไม่สูงมากเกินไป 

7 ลงนอนราบข้างเตียง หากเกิดแผ่นดินไหวตอนที่กำลังนอนอยู่บนเตียง ทฤษฎีของสามเหลี่ยมชีวิต ที่ช่วยในกรณีนี้คือ ให้ลงไปนอนขดตัวราบกับพื้นข้างเตียงระหว่างแผ่นดินไหว 

8. กองกระดาษช่วยชีวิต หากขณะเกิดแผ่นดินไหว ให้อยู่รอบ ๆ กองกระดาษที่เรียงทับซ้อนกัน โดยคอบบ์ให้เหตุผลว่า เนื่องจากกระดาษจะไม่อัดตัว ทำให้มีช่องว่างขนาดใหญ่รอบ ๆ กองกระดาษที่เรียงซ้อนกันอยู่ 

9. อาคารไม้เป็นสิ่งก่อสร้างที่ปลอดภัยที่สุด เมื่อเกิดแผ่นดินไหว เนื่องจากตัวไม้จะมีความยืดหยุ่น และเคลื่อนไหวไปตามแรงของแผ่นดินไหว เมื่ออาคารไม้ถล่ม น้ำหนักของตัวไม้จะอัดทับร่างกายน้อยกว่าคอนกรีต และไม่แตกหักพังเป็นชิ้นเหมือนอิฐมากมาย จนก่อให้เกิดการบาดเจ็บได้มากกว่า และเมื่ออาคารไม้ถล่ม จะเกิดช่องว่างขนาดใหญ่กว่าคอนกรีตที่หล่นแตกกระจาย 

10 อยู่ด้านข้างรถ หากอยู่ในรถขณะเกิดเหตุแผ่นดินไหว ให้ออกจากรถ แล้วนั่งหรือนอนราบอยู่ข้าง ๆ รถ เพราะเมื่อรถถูกอัดทับ มักจะมีช่องว่างสูงประมาณ 3 ฟุต อย่าอยู่ภายในตัวรถ เพราะอาจมีวัตถุต่าง ๆ หล่นทับหรือโดนแรงอัดทับตายภายในรถ ตัวอย่างจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ถนนหลวงนิมิทซ์ เมืองซานฟรานซิสโก มีผู้เคราะห์ร้ายตายอยู่ในรถตัวเองทั้งหมดจากการถูกบีบอัด 

ซึ่งทั้ง 10 ข้อดังกล่าว คือ วิธีเอาตัวรอดจากตึกถล่ม แผ่นดินไหว ด้วยทฤษฎีสามเหลี่ยมชีวิต แบบฉบับ ดัก คอบบ์ ซึ่งแต่ละวิธีการเอาตัวรอดนั้น อาจเหมาะสมกับผู้ที่อยู่ในสถานที่ใกล้กับเฟอร์นิเจอร์เตี้ย ๆ เช่น โต๊ะ เตียง หรือ ตู้หนังสือที่ไม่สูงมาก แต่อาจไม่ได้กับเฟอร์นิเจอร์ที่สูง หรือเมื่ออยู่ข้างกำแพง ดังนั้น การได้รู้วิธีเอาตัวรอดในหลาย ๆ แบบ ฝึกฝนจนจดจำได้ หมั่นสังเกตสัญญาณเตือนภัยแผ่นดินไหว และการ “มีสติ” ไม่ลนลาน จะช่วยให้เราวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็วว่าควรทำอย่างไร ใช้วิธีไหนเหมาะในสถานที่และสถานการณ์ในขณะนั้น เพิ่มให้มีโอกาสรอดชีวิตได้มากที่สุด เพราะต่อให้รู้วิธีมากมาย แต่ถ้าไม่มีสติ คิดอะไรไม่ออก ก็อาจทำอะไรไม่ถูก หรือตัดสินใจผิดพลาด และยิ่งทำให้โอกาสรอดน้อยลงไปเช่นกัน  

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

You may have missed