บริจาคร่างกายกับบริจาคอวัยวะต่างกันยังไง
การบริจาคอวัยวะ ถือว่าเป็นการสร้างประโยชน์ใน “การให้” ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะเสมือนเป็นการให้ชีวิตใหม่แก่ผู้ป่วยที่หมดหนทางรักษา ได้กลับคืนมาอยู่กับครอบครัวด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี ได้ดูแลครอบครัวและคนที่รัก ลดการสูญเสีย และเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยได้สร้างประโยชน์ให้กับสังคมต่อไป แต่หลายคนยังสับสนหรือไม่เข้าใจ การบริจาคอวัยวะกับการบริจาคร่างกายเหมือนกันหรือต่างกันยังไง และใครสามารถบริจาคอวัยวะได้บ้าง และสามารถบริจาคอวัยวะได้ที่ไหนบ้าง เรามีข้อมูลมาฝากในบทความนี้แล้วค่ะ
1. การบริจาคอวัยวะ
การบริจาคอวัยวะ คือ การบริจาคอวัยวะที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ที่สุด สำหรับการนำไปใช้เพื่อปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีอื่น เป็นการยืดอายุให้ผู้ป่วยมีชีวิตต่อไปได้ โดยอาจได้จากอวัยวะของผู้มีจิตศรัทธาที่ได้แสดงเจตจำนงบริจาคอวัยวะไว้ หรือได้จากญาติที่มีความประสงค์บริจาคให้แทน เนื่องจากการเสียชีวิตกระทันหัน หรือผู้เสียชีวิตไม่มีโอกาสได้แจ้งบริจาคด้วยตนเอง โดยหลังจากที่หมอปลูกถ่ายอวัยวะเสร็จเรียบร้อย จะทำการนำร่างของผู้เสียชีวิตส่งกลับคืนให้กลับทางครอบครัวหรือญาติของผู้เสียชีวิต เพื่อนำไปประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป
อวัยวะส่วนใดบ้างที่สามารถบริจาคได้
ปัจจุบันอวัยวะที่สามารถบริจาคได้ คือ ดวงตา ปอด หัวใจ ลิ้นหัวใจ ตับ และ ไต
2. การบริจาคร่างกาย
การบริจาคร่างกาย คือ การบริจาคทั้งร่างกายหลังจากเสียชีวิต เป็น “อาจารย์ใหญ่” เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ทำการศึกษา นำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ โดยผู้ที่จะเป็นอาจารย์ใหญ่ จะต้องมีอวัยวะครบถ้วน ยกเว้นดวงตา
เห็นได้ว่าการบริจาคร่างกายต่างจากการบริจาคอวัยวะอย่างสิ้นเชิง เพราะการบริจาคร่างกาย มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการศึกษาเท่านั้น ดังนั้น ผู้ยื่นจำนงบริจาคร่างกายจะไม่สามารถบริจาคอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายได้ ยกเว้น ดวงตา ที่สามารถบริจาค แต่ถ้าใครที่ต้องการบริจาคอวัยวะหลังตนเองเสียชีวิต เพื่อให้อวัยวะของตนได้มีเป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือชีวิตอื่นได้อยู่ต่อไป ก็จะไม่สามารถยื่นเรื่องขอบริจาคร่างกายเพื่อการศึกษาได้
ใครบริจาคอวัยวะได้บ้าง
คุณสมบัติผู้บริจาคอวัยวะ มีดังนี้
- อายุไม่เกิน 65 ปี
- เสียชีวิตจากสมองตาย
- ปราศจากโรคติดเชื้อ และโรคมะเร็ง
- ไม่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หัวใจ โรคตับ โรคไต ความดันโลหิตสูง และต้องไม่มีประวัติติดสุราเรื้อรัง เพราะอวัยวะที่จะนำไปใช้งานต่อจะต้องมีประสิทธิภาพในการทำงานได้ดี
- ปราศจากเชื้อที่สามารถถ่ายทอดผ่านทางการปลูกถ่ายอวัยวะได้ เช่น ไวรัสเอดส์ ไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น
- จะต้องแจ้งเรื่องการบริจาคอวัยวะของตนเองแก่ครอบครัวหรือญาติให้ทราบ
ทำไมการบริจาคอวัยวะจึงต้องแจ้งครอบครัวหรือญาติให้ทราบ
กรณีที่ได้ทำการยื่นขอบริจาคอวัยวะด้วยตนเอง ควรแจ้งให้บุคคลในครอบครัวหรือญาติทราบด้วย เพราะหากเสียชีวิตจะได้สามารถทำการบริจาคอวัยวะได้ทันที โดยมีญาติเป็นผู้เซ็นยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะหากญาติไม่ยินยอม จะถือว่าการบริจาคนั้นเป็นโมฆะ หรือกว่าจะทำการเข้าใจตรงกันระหว่างทางโรงพยาบาลกับญาติผู้เสียชีวิต อาจใช้เวลานาน จนไม่สามารถทำการปลูกถ่ายอวัยวะได้ เพราะการทำงานของอวัยวะเสื่อมประสิทธิภาพ หรือกลายเป็นอวัยวะตาย เพราะมีระยะเวลาจำกัดในการย้ายปลูกถ่ายอวัยวะ
ติดต่อบริจาคร่างกาย หรือ บริจาคอวัยวะได้ที่ช่องทางไหนบ้าง
- ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฒโน) ชั้น 5 ถ.อังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพ 10330
- เว็บไซต์ www.organdonate.in.th
- หมายเลขติดต่อ 1666