สัญญาณเตือนภัยก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหว สังเกตจากอะไรได้บ้าง
ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่อาจเป็นลางบอกเหตุ หรือสัญญาณเตือนภัย ว่ากำลังจะเกิดเหตุภัยพิบัติใหญ่ เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด หลายประเทศให้ความสนใจศึกษา พยายามค้นคว้าและทำการวิจัยเกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ เพื่อช่วยให้มนุษย์มีการเตรียมตัวและสามารถรับมือได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียลงไปได้มากเลยทีเดียว
ปรากฏการณ์ล่วงหน้า หรือ Precursory phenomena ที่อาจช่วยให้เรารู้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหว ได้แก่
- พื้นดินยกตัวขึ้นผิดปกติ
- สภาพการนำไฟฟ้าของหินเปลี่ยนแปลง
- ค่าความเข้ามสนามแม่เหล็กโลกเปลี่ยนแปลง
- เกิดแผ่นดินไหวขนาดย่อม ที่อาจทวีความรุนแรงตามมา
- ปริมาณก๊าซเรดอนในบ่อน้ำสูงกว่าปกติ
ความสั่นสะเทือนของใต้ดิน
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในอดีต ที่มักจะเกิดเสียงดังจากใต้ดินก่อนเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงตามมา เสียงนั้นคือเสียงสั่นสะเทือนที่เกิดจากเปลือกโลกเคลื่อนตัว โดยจะได้ยินเสียงดังเหมือนเสียงฟ้าร้อง ครืน ๆ ดังเช่นเมื่อตอนที่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่เมืองถังซาน ผู้คนส่วนใหญ่ได้ยินเสียงดังครืน ๆ อย่างชัดเจน และเมื่อเสียงนั้นสงบลง ก็เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงตามมา โดยเสียงสั่นสะเทือนใต้ดินมีหลายเสียงที่เป็นสัญญาณเตือนภัยได้ ได้แก่
- เสียงฟ้าร้อง ดังครืน ๆ เป็นเสียงที่พบบ่อยที่สุด มักจะดังขึ้นก่อนเกิดแผ่นดินไหว
- เสียงพายุ เสียงจะดังเหมือนพายุพัด หรือเสียงคล้ายช้างร้อง
- เสียงระเบิด เสียงดังตูมตามเหมือนกับระเบิดขนาดใหญ่
- เสียงฉีกผ้า เสียงดังแควกเหมือนเสียงฉีกผ้า
- เสียงเครื่องยนต์ เสียงดังเหมือนเครื่องไอพ่น รถยนต์ เครื่องบิน
- เสียงเลื่อยไม้ เป็นเสียงสั่นสะเทือนใต้ดินที่ดังคล้ายกับกำลังเลื่อยไม้ ่
ลักณษณะของท้องฟ้า
ปรากฏการณ์บนท้องฟ้าเองก็เป็นลางบอกเหตุได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น สีของท้องฟ้าที่ผิดปกติ การเกิดเมฆรูปร่างประหลาด เช่น เมฆ Earthquake Clouds ซึ่งเป็นเมฆแผ่นดินไหว หรือการเกิดประกายแสงและรุ้งกินน้ำตามมา เป็นต้น
สัญชาตญาณของสัตว์
สัญชาตญาณความเอาตัวรอดของสัตว์ ทำให้สามารถรับรู้ถึงสิ่งผิดปกติได้ไวกว่ามนุษย์ และจากการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว พบว่า เมื่อสัตว์ต่าง ๆ โดยเฉพาะสัตว์ป่ามีพฤติกรรมที่ผิดปกติ มักจะเกี่ยวเนื่องกับภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นตามมาเสมอ
พฤติกรรมของนก
นก เป็นสัตว์ที่สัญชาตญาณไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะนกพิราบป่าจะไวเป็นพิเศษ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวเคยพบว่า ขณะที่เกิดแผ่นดินไหวแรงสั่นสะเทือนเล็กน้อย หรือมีแรงสั่นสะเทือนตั้งแต่ 3 ริกเตอร์ ในรัศมี 50 กิโลเมตร ฝูนกพิราบป่าจะบินหนีไปภายใน 24 ชั่วโมง รวมไปถึงนกชนิดอื่น ๆ หรือแม้แต่นกเลี้ยง อย่าง นกแก้ว
เช่นเดียวกับความเชื่อของคนไทยที่เรามักจะได้ยินกันบ่อย ๆ เช่น ฝูงนกแตกตื่นบินไม่รู้ทิศรู้ทาง จะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง เป็นต้น ซึ่งเป็นความเชื่อที่เกิดจากการสังเกตของบรรพบุรุษนั่นเอง
พฤติกรรมของสัตว์เลื้อยคลาน
สัตว์เลื้อยคลาน เป็นสัตว์ที่รู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดแผ่นดินไหวได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ งู ตัวตุ่น และสัตว์ที่จำศีลหรืออาศัยอยู่ในโพรงใต้ดิน เพราะสามารถสัมผัสถึงก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หรือ การเปลี่ยนแปลงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนของเปลือกโลกได้ก่อนใคร จะหลบภัยด้วยการเลื้อยขึ้นมาบนดิน หรือออกจากโพรงขึ้นมาบนวิ่งพล่านไปมาบนผิวดิน แม้จะเป็นช่วงจำศีลก็ตาม อย่างที่เคยเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น โรมาเนีย จีน และอีกหลายประเทศที่เคยเกิดแผ่นดินไหว จะพบฝูงงูเลื้อยขึ้นมาบนดิน ในประเทศที่อากาศหนาวก็มีงูเลื้อยขึ้นมาแข็งตาย หรือแม้แต่เลื้อยไปหลบในซอกหิน ก่อนเกิดแผ่นดินไหว 1 วัน เท่านั้น
พฤติกรรมของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ
สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ อย่าง กบ ก็จะมีอาการผิดปกติคล้ายกับสัตว์เลื้อยคลานอื่น ๆ อย่างเช่นในเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงในประเทศจีน ที่มีคนพบเห็นฝูงกบนับหมื่นตัวพากันอพยพจากถิ่นอาศัย ก่อนเกิดแผ่นดินไหว ไม่กี่ชั่วโมง
พฤติกรรมของสัตว์น้ำ
สัตว์น้ำก็สามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนของเปลือกโลก โดยเฉพาะพฤติกรรมของปลาต่าง ๆ ที่มนุษย์สามารถสังเกตได้ง่าย นั่นคือ ฝูงปลา โดยเฉพาะปลาน้ำลึก จะว่ายเข้าสู่เขตน้ำตื้น หรือว่ายเข้าหาฝั่ง ทำให้เรามักจะเห็นฝูงปลานับร้อยนับพันตัวว่ายมาเกยหาดก่อนแผ่นดินไหวเกิดตามมา หรือปลาน้ำจืดกระโดดขึ้นผิวน้ำเหมือนตกใจและพยายามจะหนีอะไรอย่างสุดชีวิต
พฤติกรรมสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ที่ใกล้ชิดมนุษย์อย่างสัตว์เลี้ยงเองก็สามารถรับรู้ได้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหว เช่น
สุนัข จะมีอาการตื่นตระหนก วิ่งไปมา กระวนกระวาย ก้าวร้าวขึ้นกว่าเดิม หรือเห่าและหอนผิดปกติ
แมว จะมีอาการหงุดหงิด ตื่นตระหนก ร้องกระวนกระวายแบบตกใจกลัว พยายามปีนขึ้นที่สูง
หนู เป็นสัตว์ที่มักจะอยู่ในโพรง ทำให้รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้เร็ว ก่อนจะเกิดแผ่นดินไหว หนูจะวิ่งออกมาจากโพรงหรือรูที่หลบซ่อน อาจวิ่งมุ่งตรงไปทิศทางใดทางหนึ่งเป็นฝูงใหญ่ หรือวิ่งเพ่นพล่านไปทั่ว ทำให้มักจะมีหนูติดกับดักมากเป็นพิเศษ